ในการค้าสากลการผลิตผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ชนิดต่างๆ เพื่อจะวางจำหน่ายในตลาดจะต้องนำสินค้าดังกล่าวมาทำการทดสอบด้านการใช้งาน(Functional Test) ความปลอดภัยของผู้ใช้งาน(Product Safety test) ความคงทนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม(Environmental test) การทดสอบความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า(Electromagnetic Compatibility) ก็เป็นอีกมาตรฐานหนึ่งซึ่งถูกกำหนดให้การทดสอบ สินค้าต่างๆจะต้องผ่านการทดสอบตามมาตรฐานที่กำหนดโดยตลาดที่ส่งไปจำหน่าย เช่น ผู้ผลิตต้องการส่งสินค้าของตนไปจำหน่ายในแถบประเทศยุโรป(EU) จะต้องติดเครื่องหมาย CE บนสินค้านั้นๆ ส่วนในตลาดสหรัฐอเมริกาสินค้าบางประเภทต้องผ่านการทดสอบตามข้อกำหนดของคณะกรรม การกลาง ควบคุมการสื่อสารโทรคมนาคม(Federal Communication Commission: FCC)ก่อน จึงจะสามารถนำเข้าไปขายในสหรัฐอเมริกาได้
ปัจจุบันประเทศไทยก็ออกฎหมายบังคับ อุปกรณ์ประเภทส่องสว่าง เช่น อิเล็กทรอนิกส์บัลลาสต์ หลอดไฟ บัลลาสต์แบบขดลวด และหลอดไฟแบบสมบูรณ์ในตัวเอง(Compact lamp) จะต้องทดสอบด้านความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้าด้วย ในอนาคตอันใกล้นี้สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมจะทยอยประกาศกฎหมายเพื่อบังคับใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประเภทอื่นๆด้วย เช่น อุปกรณ์ในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เป็นต้น ดังนั้นผู้ผลิตในประเทศควรจะตื่นตัวกับมาตรฐานของไทยดังกล่าวนี้ด้วย
มาตรฐานเรื่องความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นสิ่งที่คนไทยและประเทศไทยไม่คุ้นเคย ทั้งที่เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการออกแบบและการผลิตผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับผู้ประกอบการของไทยที่ต้องการส่งออกยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องมาตรฐานสินค้า และยังไม่เคยมีหลักสูตรการเรียนการสอนในสถานศึกษาของประเทศ ทำให้สินค้าจากประเทศไทยประสบปัญหาในการแข่งขันในการตลาดสากลอย่างมาก เนื่องจากสินค้าไม่ได้มาตรฐานตามกฎเกณฑ์ของแต่ละประเทศที่เป็นผู้กำหนด
ในอนาคตอันใกล้นี้เมื่อข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งกำหนดโดยองค์กรการค้าโลก หรือ World Trade Oganization(WTO) มีผลบังคับใช้ภายในปี 2006 กำแพงภาษีทางการค้าระหว่างประเทศจะลดลงเหลือ0% จะมีผลทำให้ประเทศไทยถูกแรงกดดันให้ต้องยอมรับมาตรฐานการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ด้านความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้าในทุกผลิตภัณฑ์ เนื่องจากตลาดส่งออกของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยส่วนใหญ่เป็นตลาดในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เป็นต้น ในขณะที่ประเทศผู้ผลิตที่เป็นคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญ เช่น จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลี และไต้หวัน ล้วนแล้วแต่มีห้องทดสอบมาตรฐานเพื่อสนับสนุนการผลิตภายในประเทศแทบทั้งสิ้น
วิธีการในการขอการรับรองถูกระบุอยู่ในข้อกำหนดของ FCC ส่วนที่ 2 ส่วนย่อย J ( Part2 Subpart J )วิธีการขอการรับรองแบ่งออกเป็น 3 วิธี คือ
การรับรองผลิตภัณฑ์ของตนเองโดยวิธีการทวนสอบ ( Verification )
การรับรองผลิตภัณฑ์ของตนเองโดยวิธีการนี้ ผู้ผลิตจะต้องทดสอบตามวิธีการที่มาตรฐานกำหนดและจะต้องแสดงว่าเครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบได้มาตรฐาน
การรับรองโดยการประกาศ ( Certification)
สำหรับวิธีการนี้ผู้ผลิตจะต้องส่งผลิตภัณฑ์ของตนไปทดสอบ ในห้องทดสอบที่ได้รับการรับรองการทดสอบตามระบบคุณภาพ(Accredited Laboratory) ผลของการทดสอบและข้อมูลในการขอการรับรองจะถูกเตรียมโดยห้องปฏิบัติการ และห้องทดสอบนั้นๆจะส่งผลการทดสอบไปยังหน่วยงาน FCC เพื่อประกันผลการทดสอบ และขอเครื่องหมายรับรองต่อไป
วิธีการสำแดงความเสมือน (Declearation of Conformity : DOC )
วิธีการนี้ผู้ผลิตจะต้องส่งผลิตภัณฑ์ของตนไปทดสอบ ยังห้องทดสอบที่ได้รับการรับรองระบบคุณภาพ (Accredited Laboratory) และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์หรือ ผู้นำเข้าจะเป็นผู้รับผิดชอบผลกระทบจากผลิตภัณฑ์นั้นๆ ผลิตภัณฑ์ชนิดที่ใช้วิธีการนี้จะต้องเป็นแบบที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง คือไม่ต้องการอุปกรณ์พ่วงต่อใดๆ เช่น บริภัณฑ์ขั้วปลายระบบสายไฟ เป็นต้น