เมื่ออุปกรณ์การวัดในโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับการติดตั้ง และถูกใช้งานไปแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่งจะเกิดความคลาดเคลื่อน(Drift) ไปจากสภาวะเมื่อเริ่มทำการติดตั้งใช้งานครั้งแรก ทำให้อุปกรณ์ต่างๆ ด้อยประสิทธิภาพลงหรือส่งผลให้ไม่สามารถใช้งานได้ในที่สุด การคลาดเคลื่อนนี้มีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายๆ ด้าน ทั้งด้านทางกล เช่น การหลวมของข้อต่อและการบิดหักของสายเคเบิลสัญญาณ การเกิดสนิมบริเวณข้อต่อต่างๆจากไอเกลือ การเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ประกอบ เช่น ตัวต้านทานเสื่อม การรั่วของตัวเก็บประจุ การเลื่อนค่าของตัวออสซิเลเตอร์ (Oscillator) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสัญญาณอ้างอิงให้กับไมโครโปรเซสเซอร์ทำให้สูญเสียความแม่นยำในการคำนวณ และการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ละอองน้ำหรือการรบกวนทางธรรมชาติ เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อมีการใช้งานอุปกรณ์ทางไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง จึงต้องทำการสอบเทียบ (Calibration) และปรับแต่ง (Tuning) เครื่องมือต่างๆ ให้มีค่าเท่าเดิม หรือใกล้เคียงกับค่าเดิมมากที่สุด เพื่อทำให้ประสิทธิภาพการใช้งานของเครื่องมือคงที่ มีความน่าเชื่อถือ ทั้งยังยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ และสามารถลดต้นทุนในการจัดส่งซ่อมหรือจัดซื้อใหม่
การสอบเทียบเครื่องมือเป็นหลักประกันที่ทำให้เชื่อมั่นในความถูกต้องของผลการทดสอบ เป็นกระบวนการเพื่อให้มั่นใจได้ว่าเครื่องมือที่ใช้ในการวัดนั้น มีค่าของการวัดที่ถูกต้อง นำไปสู่การยอมรับในการใช้งานร่วมกัน และเป็นกิจกรรมหลักที่ถูกระบุไว้ใน ข้อกำหนดตามมาตรฐานสากลต่างๆ ได้แก่ ISO/IEC 17025
การสอบเทียบ (Calibration) คือ กระบวนการทำงาน (ภายใต้สภาวะที่ควบคุม) ซึ่งสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง ค่าที่วัดได้จากเครื่องมือวัด กับ ค่าที่แท้จริงจากมาตรฐานอ้างอิง ที่มีการสอบกลับได้ (Traceability ) กล่าวคือ การสอบเทียบ (Calibration) คือการเทียบผลการวัดกับค่ามาตรฐานที่รู้ค่าอย่างแท้จริง (Reference Value) ค่ามาตรฐานที่รู้ค่าจริงนี้จะต้องเป็นแหล่งที่มาที่เป็นที่ยอมรับกัน ค่ามาตรฐานต่างๆ ถูกกำหนดขึ้นและยอมรับกันระหว่างประเทศต่างๆ ใช้อ้างอิงเป็นมาตรฐาน (Standard) เดียวกัน ก็จะเป็น International Standards และเป็น International Traceability การสอบเทียบ เน้นการวัดเพื่อสอบทางมาตรวิทยา โดยรายงานผลหรือค่าที่ได้จากเครื่องมือ ภายใต้การควบคุมกระบวนการและสภาวะอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่า ค่าที่วัดจากเครื่องมือนั้น สามารถเปรียบเทียบค่าของมันกับค่าที่แท้จริงได้
ในการสอบเทียบอุปกรณ์ต่างๆ จะต้องใช้เครื่องมือที่ได้มาตรฐานและได้รับการสอบเทียบมาแล้วจากห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง (Accredited) จากหน่วยงานที่ได้มาตรฐาน ซึ่งสามารถเชื่อมโยงความถูกต้องของการสอบเทียบขึ้นไปจนถึงมาตรฐานการวัดของชาติ (National Standards ) ที่ได้รับการยอมรับความถูกต้องจากนานาชาติ (International Standards) หรือที่เรียกว่า การสอบย้อนกลับทางการวัด (Traceability) โดยสามารถสรุปองค์ประกอบระบบมาตรวิทยาของชาติที่แสดงการเชื่อมโยง (Traceability Chain) ของการวัดในประเทศกับการยอมรับของนานาชาติ ดังแสดงในรูป