P-Mark Certification

P-mark ผลลัพท์ต่อประเทศที่มองเห็นและรับรู้ได้
คำจำกัดความ
(P-Mark) คือ ฉลากที่มอบให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่สำเร็จรูป (finish product) หรือกระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ (product process) หรือบริการ(services) โดยการนำผลิตภัณฑ์สำเร็จ บริการหรือกระบวนการผลิตนั้นๆ มาเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกระบวนการผลิตอื่นๆ ที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน โดยที่คุณภาพยังอยู่ในระดับมาตรฐานที่กำหนด ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์เหล่านี้ หมายถึง สินค้าและบริการหลายประเภท เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ สำหรับการติดฉลาก จะผ่านกระบวนการทดสอบ ตรวจสอบและการรับรอง โดยหน่วยงานทดสอบที่เป็นมาตรฐานสากล และใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเกณฑ์ในการตรวจสอบและรับรอง เพื่อแสดงให้ผู้บริโภคในประเทศเกิดความเชื่อมั่นต่อผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต และช่วยผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมในประเทศเกิดการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตให้มีมาตรฐานในระดับสากล
หลักการ
- P–Mark เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นจากความต้องการ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งเป็นผู้บริโภคสินค้าหรือบริการ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ตรงตามวัตถุประสงค์และความต้องการ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
- P–Mark เป็นกลยุทธ์หนึ่งในนโยบายด้านการพัฒนาความสามารถในการวิจัย พัฒนา การออกแบบ วิศวกรรม การผลิต และการควบคุมคุณภาพ โดยใช้การตลาดเป็นเครื่องมือ เนื่องจากผู้บริโภคได้รับข้อมูล ข่าวสารอย่างเพียงพอในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ ที่มีคุณภาพปลอดภัย รวมทั้งมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย หรือผู้ให้บริการ จึงต้องแข่งขันกันปรับปรุงคุณภาพ เพิ่มความปลอดภัยในสินค้าหรือบริการ และมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินการผ่านกระบวนการวิจัย พัฒนา การออกแบบ วิศวกรรม การผลิต และการควบคุมคุณภาพ
- P–Mark ไม่ได้เป็นเงื่อนไขการกีดกันทางการค้า หรือการตลาดแต่อาศัยกลไกทางการตลาด ผลักดันให้ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย หรือผู้ให้บริการ พัฒนาและปรับปรุงสินค้าหรือบริการ ให้มีคุณภาพ มีความปลอดภัยและมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
- P–Mark ไม่ใช่รางวัล ไม่มีการประกวด แต่เป็นการแสดงผลการวิเคราะห์ ทดสอบ ผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่ได้จากการสุ่มตัวอย่างจากตลาดทั่วไป ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ ทดสอบ ตามมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นยอมรับ เพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ของการประเมิน การวิเคราะห์ การทดสอบในด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กับข้อกำหนดเฉพาะของสินค้าหรือบริการแต่ละประเภท ทั้งนี้ ข้อกำหนดเฉพาะดังกล่าว จะได้รับการกำหนดขึ้น โดยอ้างอิงมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ข้อกำหนดเฉพาะที่กำหนดโดยผู้ผลิต สภาพความพร้อมของผู้ผลิตและพัฒนาการของอุตสาหกรรม
- P–Mark ไม่ได้ตรวจสอบหรือประเมินกระบวนการผลิต และการส่งมอบเพื่อรับรองคุณภาพ และความปลอดภัย แต่อาศัยคุณสมบัติของตัวอย่างที่ได้จากการสุ่มจากตลาดทั่วไป ซึ่งผ่านกระบวนการผลิต และการส่งมอบมาแล้ว เป็นตัวแทนของข้อมูล ดังนั้น P–Mark จึงไม่ได้เป็นการรับรองผลิตภัณฑ์หรือบริการทุกชิ้น แต่เป็นเพียงการยืนยันผลการประเมิน การวิเคราะห์ การทดสอบตัวอย่างที่ได้จากการสุ่มเท่านั้น
การดำเนินการโครงการ P-Mark
โครงการฉลาก P-Mark ริเริ่มขึ้นโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อเดือนกรกฏาคม พ.ศ. 2555 โดยได้รับความเห็นชอบจากผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องต่างๆ ให้ปฎิบัติออกมาเป็นรูปธรรม จึงนับว่าเป็นโครงการที่เกิดจากการร่วมมือระหว่างส่วนราชการ และองค์กรต่างๆ โดยมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ
โครงการฉลาก P-Mark เกิดขึ้น เพื่อต้องการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ บริการ และกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมาตรฐานแก่ผู้บริโภค โดยคำนึงถึง 3 เรื่องหลักประกอบด้วยด้านคุณภาพด้านความปลอดภัยและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยผ่านกระบวนการทดสอบตรวจสอบและรับรองอย่างเป็นระบบและมีความโปร่งใสตรวจสอบได้
วัตถุประสงค์
- ให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นกลางต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับคุณภาพ ความปลอดภัย และการรักษาสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์หรือบริการในตลาด
- ผลักดันให้เกิดการพัฒนาความสามารถในการวิจัย พัฒนา ออกแบบ วิศวกรรม การผลิต การควบคุมคุณภาพ รวมทั้งการประเมิน การวิเคราะห์ และการทดสอบของประเทศ
- เพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน
แนวคิดของโครงการฉลาก P-mark
- P–Mark เป็นฉลากที่ออกให้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการ ซึ่งได้ผ่านการประเมิน วิเคราะห์ ทดสอบ แล้วว่าได้ผลลัพธ์ตามข้อกำหนดเฉพาะของสินค้า หรือบริการ ตามที่คณะกรรมการบริหาร P–Mark กำหนด
- P–Mark อาศัยผลจากการวิเคราะห์ ทดสอบตัวอย่างที่ได้จากการสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากตลาดทั่วไป เปรียบเทียบกับข้อกำหนดเฉพาะของสินค้าหรือบริการแต่ละประเภท และแสดงผลว่าเป็นไปตามข้อกำหนดโดยการติดฉลาก P–Mark บนผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ข้อกำหนดเฉพาะของสินค้าหรือบริการแต่ละประเภท และผลการประเมิน การวิเคราะห์ การทดสอบต่างๆ ต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน
- P–Mark เป็นไปโดยความสมัครใจของผู้ผลิต ผู้จำหน่าย หรือผู้ให้บริการ ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพ สร้างความปลอดภัย และแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
- P–Mark กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาความสามารถในการวิจัย พัฒนา ออกแบบ วิศวกรรม การผลิต และการควบคุมคุณภาพ โดยอาศัยกลไกของตลาด
- P–Mark แบ่งเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นการมุ่งเน้นทางด้านคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์หรือบริการ ซึ่งถือว่าเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่ผู้บริโภคควรได้รับ ประเภทสองเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มเติมจากประเภทแรกของผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้ให้บริการ
- P-mark เป็นฉลากที่ออกให้กับผลิตภัณฑ์ บริการหรือกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้ผ่านการทดสอบ ตรวจสอบ และการรับรอง ว่าได้มาตรฐานทางด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามข้อกำหนดที่ทางคณะกรรมการบริหารโครงการ P-mark ประกาศใช้
- เป็นโครงการ รับรองของผลิตภัณฑ์ บริการหรือกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ แบบสมัครใจ(voluntary) ของผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ผู้ให้บริการ ตลอดจนนักวิจัยพัฒนา ที่ต้องการแสดงความสอดคล้องด้านความคุณภาพ ความปลอดภัยและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อผู้บริโภคโดยทั่วไป
- ปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีในการใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพิสูจน์คุณลักษณะเฉพาะของผลิตภัณฑ์ บริการหรือกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ ให้แก่ประชาชนทั่วไปได้ทราบและใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกบริโภค โดยการแนะนำผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพความสอดคล้องตามมาตรฐาน มีความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและกระตุ้นให้มีการบริโภค ผลิตภัณฑ์ บริการหรือกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ในประเทศมากขึ้น
- กระตุ้นให้กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ บริการหรือกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ในประเทศ หันมาใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี เพื่อทำการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และกระบวนการต่าง ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดต้นทุนการผลิต และการขยายโอกาสในทางการค้ามากขึ้น
หลักการทางด้านวิทยาศาตร์เทคโนโลยีและด้านมาตรฐานที่ใช้เป็นแนวทางในการทำงาน
เนื่องจาก P-mark เป็นฉลากที่มอบให้กับผลิตภัณฑ์ บริการ และกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีการพิจารณาทั้งในด้านคุณภาพ ความปลอดภัยและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์บริการฯลฯ ประเภทเดียวกัน ดังนั้นคณะกรรมการบริหารโครงการฉลาก P-mark จึงวางหลักการทางด้านมาตรฐานที่ใช้ฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินโครงการตลอดจนใช้เป็นพื้นฐานในการคัดเลือกประเภทของผลิตภัณฑ์
ความพร้อมในการยอมรับโครงการฉลาก P-mark ของผู้ผลิตและผู้บริโภค
ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการค้าขายผลิตภัณฑ์ภายในประเทศและการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายทั่วโลก ได้หันมาให้ความสำคัญกับมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ (Product standards) มากขึ้นตามลำดับ กรอปกับประชาชนในประเทศหันมาสนใจฉลากรับรองผลิตภัณฑ์มากขึ้น เนื่องจากฉลากเหล่านี้สามารถใช้แสดงถึงคุณภาพ ความปลอดภัยฯลฯ ของผลิตภัณฑ์ และบางฉลากสามารถเชื่อมโยงเข้ากับด้านเศรษฐศาสตร์ทั้งระดับจุลภาคและมหภาคได้ดี จึงทำให้มีฉลากผลิตภัณฑ์เกิดขึ้นหลากหลายมากขึ้น สำหรับผู้ผลิตและผู้ให้บริการในภาคอุตสาหกรรม การผลิตและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ดีมีมาตรฐานและมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค จึงเป็นโอกาสในการขายผลิตภัณฑ์ต่างๆในตลาด และช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นๆ และสามารถส่งเสริมยอดขายให้มากขึ้นได้ ในขณะเดียวกันการมีฉลากรับรองผลิตภัณฑ์จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมในประเทศเกิดการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนจนมีคุณสมบัติต่างๆ สอดคล้องกับข้อกำหนดจนได้รับฉลาก ทำให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นแกนนำ
ปัจจัยการที่จะทำให้โครงการ P-mark ประสบความสำเร็จได้นั้น ขึ้นกับจิตสำนึกด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและความมีมาตรฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ของประชาชนในประเทศ เนื่องจากการขออนุญาตใช้ฉลากนี้เป็นความสมัครใจของผู้ผลิตและผู้บริการเป็นเกณฑ์ ไม่ได้เป็นการบังคับ นั่นคือผู้บริโภคต้องพร้อมที่จะแสดงออกถึงความต้องการในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาทำการพิสูจน์คุณสมบัติต่างๆของผลิตภัณฑ์ ผ่านทางการบริโภคผลิตภัณฑ์ ส่วนผู้ผลิตต้องมีความสนใจที่จะเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมและเน้นถึงคุณสมบัติที่เป็นวิทยาศาสตร์ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์
คณะกรรมการและคณะทำงาน
โครงการฉลาก P-mark มีคณะกรรมการและคณะทำงานซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบแตกต่างกัน เพื่อให้การดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนของโครงการเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรมและโปร่งใส ดังต่อไปนี้
1. คณะกรรมการบริหารโครงการฉลาก P-mark
ด้วยโครงการฉลาก P-mark เป็นโครงการให้การรับรองผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุฯสมบัติตามมาตรฐานด้านคุณภาพ ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม โดยมีคณะกรรมการบริหารโครงการ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศ ทำหน้าที่กำกับดูแล เพื่อให้ทำกิจการหรือพิจารณาเรื่องใดๆอันอยู่ในขอบเขตหน้าที่ ตามคำสั่งที่แต่งตั้งจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) และมีผู้เชี่ยวชาญในสาขาด้านต่างๆ จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) เป็นเลขานุการ สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการโครงการมีดังนี้
- กำหนดแนวทางในการดำเนินงาน ทิศทางการบริหารงานและติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ
- ดำเนินการจัดหาทรัพยากรรองรับสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการทุกด้าน
- สร้างความร่วมมือกับส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมโครงการให้สามารถตอบสนองต่อเป้าประสงค์ของโครงการ
- พิจารณาคัดเลือกกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะประกาศเป็นฉลาก P-mark และจัดทำมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์นั้นเพื่อใช้ในการทดสอบและรับรอง
- อนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย รวมถึงการพักใช้ เพิกถอน ยกเลิก
- พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเทคนิคในการพัฒนามาตรฐาน คณะผู้ตรวจสอบด้านเทคนิคในการอนุมัติให้ใช้เครื่องหมายรับรอง
1.1. องค์ประกอบ
คณะกรรมการบริหารโครงการฯ ประกอบด้วย
- ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ประธาน
- ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กรรมการ
- ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรรมการ
- ผู้แทนสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กรรมการ
- ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ กรรมการ
- ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรรมการ
- ผู้แทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กรรมการ
- ผู้แทนสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย กรรมการ
- ผู้แทนจากศูนย์ฯ แห่งชาติ กรรมการ
- ผู้แทนจากภาคมหาวิทยาลัย กรรมการ
- ผู้แทนจากสมาคมหรือบริษัทเอกชน(แยกตามผลิตภัณฑ์) กรรมการ
- ผู้แทนจากสมาคมหรือบริษัทเอกชน(แยกตามผลิตภัณฑ์) กรรมการ
- ผู้แทนจากสมาคมหรือบริษัทเอกชน(แยกตามผลิตภัณฑ์) กรรมการ
- ผู้แทนจากบริษัท ทีโอ ทีจำกัด (มหาชน) กรรมการ
- ผู้แทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต กรรมการ
- ผู้จัดการโครงการฯ เลขานุการ
1.2. หลักการดำเนินงาน
- คณะกรรมบริหารโครงการฯ จะมีการประชุมทุก 3 เดือน โดยให้ฝ่ายเลขานุการเรียกประชุมคณะกรรมการได้ หลังจากได้รับความเห็นชอบจากประธานคณะกรรมการฯ แล้ว
- สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีสิทธิ์แนะนำในเรื่องหลักการดำเนินการของโครงการในเรื่องต่างๆ เพื่อให้มีทิศทางการดำเนินงานไปตามเป้าประสงค์
2. เลขานุการโครงการ
ฝ่ายเลขานุการ ทำหน้าที่ประสานงานและดำเนินงานโครงการ และประชาสัมพันธ์การนำเครื่องหมายรับรองไปใช้งานอำนาจหน้าที่
- จัดการประชุม สำหรับคณะกรรมการบริหารโครงการ และคณะอนุกรรมการเทคนิค และคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจอื่นๆ ตามวาระ
- เข้าร่วมการประชุมของคณะกรรมการฯ ในฐานะเลขานุการ
- นำร่างข้อกำหนดของคณะกรรมการเทคนิคเสนอต่อไปยังคณะกรรมการโครงการเพื่อพิจารณาอนุมัติ
- บันทึกการประชุมและส่งสรุปรายงานการประชุมไปยังคณะกรรมการฯและรายงานความคืบหน้าของโครงการไปยังคณะกรรมการฯ
- เก็บรักษาข้อมูลและเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ผู้สมัครขอใช้เครื่องหมายรับรองไว้เป็นความลับ
- รวบรวมประเภทผลิตภัณฑ์ ตามที่มีผู้เสนอมาให้พิจารณาออกข้อกำหนด และประเมินความเป็นไปได้ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมของคณะกรรมการฯ
- รับใบสมัครขอเครื่องหมายรับรอง จากผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายในประเทศและดำเนินการต่างๆในกระบวนการ
3. คณะอนุกรรมการ มีหน้าที่ดังนี้
การอนุมัติใช้เครื่องหมายรับรอง P-mark ให้กับผลิตภัณฑ์ประเภทใดก็ตาม จะมีการดำเนินการตามขั้นตอนและรายละเอียดต่อไปนี้
- เอกสารที่ใช้ในการสมัคร
- การตรวจสอบหลักฐานตามข้อกำหนด
- ค่าสมัครและค่าธรรมเนียมการใช้เครื่องหมายรับรอง
- สถานภาพทางกฎหมาย
3.1. เอกสารที่ใช้ในการสมัคร
ผู้ประสงค์ยื่นใบสมัครขอใช้เครื่องหมายรับรอง สามารถขอรับเอกสารเพื่อกรอกข้อความได้ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนดลยีแห่งชาติ(สวทช.) เอกสารที่เกี่ยวข้องมี 2 ฉบับคือ
- ใบสมัครขอสิทธิ์ในการใช้เครื่องหมายรับรอง ซึ่งจะระบุหลักฐานและเอกสารต่างๆ ที่ใช้ประกอบการพิจารณา
- คู่มือแนะนำโครงสร้างของการรับรองเครื่องหมาย P-mark เป็นเอกสารอธิบายถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการและหน้าที่ ขั้นตอนการอนุมัติใช้เครื่องหมายรับรอง ค่าสมัครและค่าธรรมเนียมการใช้เครื่องหมายรับรอง
- ข้อกำหนดด้านการทดสอบสำหรับผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท ที่สอดคล้องกับข้อกำหนดของเครื่องหมายรับรอง P-mark เป็นเอกสารอธิบายข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทและวิธีทดสอบโดยห้องปฏิบัติการทดสอบ
3.2. การตรวจสอบหลักฐานตามข้อกำหนด
หลังจากที่ เลขานุการฯ ไทยรับใบสมัครจากผู้ที่ประสงค์จะใช้เครื่องหมายรับรองแล้ว จะตรวจสอบเอกสารและหลักฐานในขั้นต้น ดูความถูกต้องและครบถ้วน ในขั้นนี้ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เมื่อหลักฐานถูกต้องสมบูรณ์ดีแล้ว จะนำเสนอเข้าคณะกรรมการฯ พิจารณา และเมื่อผ่านการพิจารณาแล้วจึงอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรอง ในการโฆษณาและติดที่ผลิตภัณฑ์ได้
ในกรณีที่ข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์บางประเภทระบุให้ผู้สมัครแสดงผลทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากห้องปฎิบัติการทดสอบค่าใช้จ่ายในการทดสอบเป็นความรับผิดชอบของผู้สมัครจากนั้นจึงแนบผลการทดสอบมาพร้อมกับใบสมัครด้วยโดยเอกสารและหลักฐานต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมดฝ่ายเลขานุการจะเก็บเป็นความลับ
ในกรณีผู้ตรวจสอบจำเป็นต้องไปตรวจประเมินโรงงานเพื่อตรวจดูเทคโนโลยีการผลิตสำหรับผลิตภัณฑ์บางประเภทสำหรับนำมาประกอบพิจารณาค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในส่วนนี้จะอยู่ในความรับผิดชอบของผู้สมัครด้วยโดยเอกสารและหลักฐานต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมดฝ่ายเลขานุการจะเก็บเป็นความลับ
3.3. สถานภาพทางกฎหมายของเครื่องหมาย P-mark
สวทช. สงวนสิทธิ์ในการใช้เครื่องหมายรับรอง P-mark ให้เป็นเครื่องหมายรับรอง ดังนั้นจึงอนุญาตให้นำเครื่องหมายรับรอง P-Mark ไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นลายลักษ์อักษร